แนะนำป.โท MA Development Studies ที่เนเธอร์แลนด์

ระหว่างเล่าขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนไปเรียนต่อ ขอพักเบรกชมสิ่งที่น่าสนใจสักครู่ นั่นคือ เราจะมาแนะนำโปรแกรมที่กำลังจะไปเรียนต่อนั่นเอง

อย่างที่เคยบอกไปในโพสก่อนๆ ว่าเราเลือกจะไปเรียนป.โทที่ Institute of Social Studies (ISS) ณ Erasmus University Rotterdam ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในสาขา MA Development Studies (พัฒนศึกษา) โดยเน้นที่ Economic of Development (ECD หรือ ด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา) ซึ่งเราเป็นคนไทยคนเดียวที่มาเรียนที่นี่ในปีนี้ และทุกปีจะมีคนไทยไม่เกิน 1-2 คน หรือไม่มีเลย โดยเราคิดเอาเองว่าน่าจะเป็นเพราะ 1.คนไทยส่วนใหญ่เลือกไปเรียนที่อังกฤษ หรือ อเมริกาเป็นหลัก 2.สาขา Development Studies ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยมากนัก คนไทยส่วนใหญ่ที่รู้จักมักจะไปเรียนสาขาที่กลับมาทำเงินได้มาก เช่น การเงิน MBA การตลาด เศรษฐศาสตร์ คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งสาขา Development Studies ดูจะเป็นสาขารองๆ ที่คนจะเลือก ยกเว้นมี passion หรือความสนใจในประเด็นด้านการพัฒนาจริงๆ หรือต้องการทำงานในต่างประเทศ จึงจะเลือกต่อสาขานี้

แม้จะไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง แต่วันนี้เราจะมาแนะนำโปรแกรม Development Studies ที่จะไปเรียนเพื่อให้คนไทยรู้จักมากขึ้น เผื่อใครมีประสบการณ์ทำงานหรือชอบเรื่องการพัฒนาและสายทำงานเพื่อสังคม จะได้เก็บป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว ติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ

Development Studies คืออะไร?

สาขาพัฒนศึกษา หรือ การศึกษาการพัฒนา (Development Studies) คือ สาขาหลักของสังคมศาสตร์ อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจถึงปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (ประเทศยิ่งพัฒนาเร็วขึ้น คว่มเหลื่อมล้ำยิ่งสูงขึ้น) ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น เพื่อหาวิธีในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ทั้งในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดีขึ้น และให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ยิ่งช่วงนี้ SDG (Sustainable Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย กำลังมาแรงมาก โดยเป็นแนวคิดริเริ่มจากสหประชาชาติ และเป็นเป้าหมายที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้สาขา Development Studies เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ใครสนใจเกี่ยวกับเรื่อง SDGs ติดตามอ่านต่อใน SDG Move ได้เลย

ทำไมเลือกเรียนที่ ISS Erasmus University Rotterdam?

ISS หรือ Institute of Social Studies คือสถาบันด้านสังคมศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการของเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 1952 ตั้งอยู่ ณ กรุงเฮก (the Hague) เมืองศาลโลก (หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าอยู่ Rotterdam ไม่ใช่นะคะ)โดยแรกเริ่มรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญจากประเทศกำลังพัฒนาในการฝึกอบรมและการศึกษาต่อ และพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับปัญญาชนและผู้กำหนดนโยบายในประเทศคู่ค้า (อ่านเพิ่มเติม https://hmong.in.th/wiki/International_Institute_of_Social_Studies) ภายหลังได้อยู่ภายใต้การดูแลของ Erasmus University Rotterdam เพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาที่มีมาตรฐานมากขึ้น

ถ้าเหตุผลส่วนตัวคือตามที่เคยเขียนไว้ในโพสก่อนหน้าเรื่องการเลือกที่เรียนต่อ หลักๆคือตอบโจทย์เราด้านความหลากหลายในคลาสเรียน วิธีการสอนที่เน้น critical thinking มากกว่า lecture-base ความมีชื่อเสียง และอยากไปเรียนที่ยุโรปด้วย แต่วันนี้จะมารีวิวเชิงลึกเฉพาะข้อเท็จจริง (ไม่มีการชี้นำปน) เผื่อใครสนใจจะได้ตัดสินใจเองค่ะ

ISS เปิดสอนสาขาอะไรบ้าง?

ปัจจุบัน ISS มีประสบการณ์การสอนสาขาด้านการพัฒนากว่า 60 ปี โดยเปิดสอนสาขานโยบายสาธารณะ (Public Policy) ซึ่งเป็นหนึ่งใน joint program ของโครงการ Erasmus Mundus และอีกสาขาคือ Development Studies ซึ่งมีอีก 6 สาขาย่อย (majors) ให้เลือก ได้แก่

  1. เกษตรกรรม อาหารและสิ่งแวดล้อมศึกษา (Agrarian, Food and Environmental Studies or AFES)
  2. เศรษฐศาสตร์การพัฒนา (The Economics of Development or ECD)
  3. นโยบายธรรมาภิบาลและการพัฒนา (The Governance and Development Policy or GDP)
  4. มุมมองความยุติธรรมทางสังคม (The Social Justice Perspectives or SJP
  5. นโยบายสังคมเพื่อการพัฒนา (Social Policy for Development or SPD)
  6. ธรรมาภิบาล การย้ายถิ่นฐาน และเส้นทางความหลากหลาย (The Governance, Migration and Diversity or GMD) ศึกษาเพิ่มเติม https://www.iss.nl/en/education/ma-development-studies/majors

ข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรม MA Development Studies

ระยะเวลาศึกษา 15.5 เดือน โดยเริ่มเรียนกันยายน สิ้นสุดธันวาคมของปีถัดไป ค่าเทอมทั้งหมด 17500 Euro และเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด (ความเห็น เราคิดว่าระยะเวลากำลังพอดี ไม่ยาวไป ไม่สั้นไป)

คุณสมบัติทางวิชาการ (Academic Requirements)

  • จบป.ตรี สาขาเกี่ยวกับด้านสังคมศาสตร์ หรือที่เกี่ยวข้อง โดยมีระยะเวลาเรียน 3 ปีขึ้นไป และตอนจบได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ขึ้นไป
  • หากมีประสบการณ์ทำงานจะดีมาก
  • คะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL 92 ibt ขึ้นไป หรือ IELTS 6.5 ขึ้นไป (สำหรับคนไทย)
  • motivation letter ไม่เกิน 1000 คำ
  • recommendation letters 2-3 ฉบับ โดยมาจากอาจารย์มหาลัยอย่างน้อย 1 ฉบับ

เพื่อนร่วมคลาสเป็นอย่างไร?

จากสถิติของ ISS ใน 60 กว่าปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาที่เคยเรียนกว่า 13000 คน มาจาก 160 ประเทศทั่วโลก (หลากหลายมากๆ ไม่แปลกใจว่าทำไมได้ขึ้นชื่อว่า mini UN) โดยเป็นทั้งนักศึกษาป.ตรีเพิ่งจบ และคนที่ทำงานมาซักพัก แบ่งคร่าวๆ มีประมาณ 4 กลุ่ม ได้แก่

  • พนักงานของรัฐ (government officials) โดย 1/3 ของคนที่มาเรียนเคยทำงานกระทรวง เป็นข้าราชการ หรือทำงานสายการพัฒนาภาครัฐ เช่น นักวิเคราะห์ นักสถิติ นักวางแผนนโยบายต่างๆ เป็นต้น
  • นักวิจัย (researchers) โดยหลายคนเคยทำงานวิจัยในสถานศึกษา มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงการ หรือเพิ่งจบแต่เคยเป็นผู้ช่วยวิจัย เป็นต้น
  • ภาคประชาสังคม (civil society) เช่น การทำงานกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ทำงานด้านสาธารณสุข การศึกษา หรือผลักดันนโยบายภาครัฐเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร
  • นักศึกษาจบใหม่ โดยแม้จะมีประสบการณ์ทำงานน้อยกว่า แต่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิชาการที่แน่น เพราะเพิ่งจบมาหมาดๆ

ชื่อเสียงของ ISS

ในปี 2021 จากการจัดอันดับของ QS Top University ranking by subject: ISS Development Studies โดยประเมินจากความเป็นเลิศทางวิชาการ จำนวน citation ของงานวิจัยผ่านงานอื่น และปัจจัยอื่นๆ ทำให้โปรแกรม Development Studies ที่ ISS Erasmus University Rotterdam ได้เป็นอันดับ 1 ของเนเธอร์แลนด์ และอันดับที่ 12 ของโลก!!

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

เนื่องจากคนที่มาเรียนคือมาจากหลายประเทศทั่วโลก การทำงานหลังเรียนจบจึงค่อนข้างหลากหลาย แต่มีหลายคนได้ไปเป็นถึงรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดีของประเทศตัวเองเชียว หรือได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่สำคัญต่างๆของประเทศ ในประเทศไทยเองก็มีศิษย์เก่า ISS คือ คุณกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ นั่นเอง

หวังว่าเพื่อนๆ จะได้รู้จัก ISS มากขึ้น อย่างน้อยคนไทยที่มองหาโอกาสการทำงานด้านการพัฒนาหลังเรียนจบ รวมทั้งสนใจประเด็นด้านสังคม หรืออยากเรียนแหวกแนวที่ไม่ค่อยมีคนไทยไป (นอกเหนือจากใน UK USA) น่าจะมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย

ในโพสหน้าจะมาทำความรู้จักกับเมเจอร์ของเราเชิงลึก นั่นคือ ECD หรือด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ติดตามกันต่อได้เลย

Binnenhof, Den Haag, Netherlands - 1593 | The Binnenhof (Eng… | Flickr
ปิดท้ายด้วยรูปส่วนหนึ่งของเมือง Hague เป็นน้ำจิ้ม>> อีกเหตุผลที่อยากเรียนที่นี่คือเมืองสวยมากกก

Leave a comment