เตรียมตัวสมัครเรียนต่อป.โท อย่างไร ให้ไม่พลาดทุกขั้นตอน

หลังจากได้ทุนก.พ. ก็ถึงเวลาต้องเตรียมตัวสมัครเรียนต่อป.โท ต้องบอกก่อนว่าเราสนใจไปเรียนต่อที่ยุโรปตั้งแต่แรก เนื่องจากเคยไปแลกเปลี่ยนสมัยปี 3 ตอนอยู่มหาวิทยาลัยที่เมือง Linz ประเทศออสเตรีย ตอนนั้นได้ไปเที่ยวเกิน 10 ประเทศในยุโรป แต่ก็ยังอยากไปซ้ำอีกทุกที่ เราตกหลุมรักยุโรปตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา และตั้งใจว่ายังไงก็จะหาทางกลับมาเรียนป.โทที่นี่ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้สมัครทุนจนติด และได้กลับมาเรียนจริงๆ

สมัครเรียนป.โทอย่างไร ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?

เมื่อเลือก location คร่าวๆ ได้แล้ว ทีนี้ก็ตั้งหน้าตั้งตาหาโปรแกรมเรียนที่สอดคล้องกับทุนที่ได้รับ โดยเล็งไว้หลายที่อยู่ ทั้งแถบประเทศในแสกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ รวมทั้งเยอรมัน และเนเธอแลนด์ (ไม่เคยไปเลย) และตอนแรกก็สมัครในอังกฤษเผื่อไว้ด้วย เพราะมีหลายโปรแกรมที่ใกล้เคียงกับทุน โดยทุกแห่งที่สมัครต้องการเอกสาร (academic requirement) ที่ใกล้เคียงกัน (ใครรู้ตัวจะไปเรียนต่อเตรียมตัวล่วงหน้าได้เลย) ประกอบด้วย

  • ผลสอบภาษาอังกฤษ IELTS overall 6.5/ TOFEL (ขอพูดเฉพาะ IELTS เนื่องจากเราสอบเฉพาะอันนี้)

ใครที่รู้ตัวว่ายังไม่เก่งภาษา อาจต้องใช้เวลาการเตรียมส่วนนี้นานหน่อย บางคนสอบรอบเดียวผ่าน แต่หลายคนสอบหลายรอบ ดังนั้นอย่าประมาทเลยค่ะ แนะนำว่าอาจสมัครเรียนพิเศษตามสถาบันสอนภาษาอังกฤษ หรือ อ่านเองทั้งหมดแบบเรา (หากมีพื้นฐานแล้ว) ซึ่งขอแนะนำเว็บไซส์ฝึกทำข้อสอบ IELTS ด้วยตัวเองของ https://ieltsliz.com/ และ https://www.ieltsadvantage.com/ และปริ๊นข้อสอบเก่าของ Cambridge มาฝึกทำทุกวัน ที่สำคัญคือต้องมีวินัยมากๆศึกษาการสมัครสอบ IELTS เพิ่มเติมได้ที่ https://www.cambridgeenglish.org/exams-and-tests/ielts/preparation/

  • Recommendation letter ประมาณ 2-3 ฉบับ

การขอจดหมายรับรองเรียนต่อจากอาจารย์มหาลัยที่เราสนิท หรือหัวหน้างานโดยตรง จะช่วยให้มหาลัยที่เราสมัครเรียนต่อป.โท สามารถประเมินตัวเราได้ในเบื้องต้นว่าเป็นคนอย่างไร ซึ่งในส่วนนี้เราต้องเผื่อเวลาในการติดต่อทั้งอาจารย์และหัวหน้าด้วย ยิ่งถ้ามหาลัยขอหลายฉบับ (อย่างของเราเจอ 3 ฉบับ) ยิ่งต้องใช้เวลานาน เพราะเราไปขอร้องให้คนอื่นเขียนให้ บางครั้งถ้ามาขอกระชั้นชิดแล้วเค้าไม่ว่างหรืองานยุ่งมาก ทีนี้จบเลย อาจทำให้เราส่งเอกสารไม่ทันได้ (แต่มหาลัยบางที่ใจดี อาจขอให้ส่งตามมาทีหลังก็ได้)

  • Motivation letter/ Statement of Purpose (SoP)

SoP คือหัวใจของการคัดเลือกเลยก็ว่าได้ และมักเป็นส่วนที่ให้น้ำหนักคะแนนสูงสุด เพราะมันคือการเขียนบรรยายว่าเราเป็นใคร เคยทำอะไรมาที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมนี้ ทำไมอยากมาเรียนที่นี่ เราสามารถ contribute ให้เพื่อนร่วมคลาสเรียนได้บ้าง และทำไมมหาลัยต้องเลือกเรา ซึ่งส่วนนี้เป็นการเปิดเผยตัวเองให้มากที่สุด เพื่อมหาลัยจะได้พิจารณาว่าเราเหมาะสมกับโปรแกรมของเค้าหรือไม่ แนะนำว่าควรเตรียมตัวเขียนแต่เนิ่นๆ เพราะต้องใช้เวลากลั่นกรองความคิด และขุดประวัติการทำงานที่สอดคล้อง เพื่อมาเรียบเรียงเป็นความเรียง ใช้ภาษาเหมาะสม ไม่เยิ่นเย้อ อ่านแล้วรู้สึกน่าสนใจตั้งแต่บรรทัดแรก (บางมหาลัยที่คนสมัครเยอะ ถ้าประโยคแรกไม่น่าสนใจเค้าคัดออกเลยก็มี) และไม่มีมีแค่ draft เดียวนะคะ ควรให้เพื่อน รุ่นพี่ หรือคนที่มีประสบการณ์ช่วยอ่านและปรับแก้ให้หลายๆ คน จนได้เวอชั่นที่ดีที่สุด (ของเรามีทั้งหมด 6 drafts!) แถมยังต้องแก้อีกหลายฉบับตามจำนวนหมาลัยที่เราสมัครเรียนต่อป.โท ดังนั้น ยิ่งสมัครหลายที่ ก็ยิ่งต้องเขียนหลายฉบับ

  • CV/resume

ส่วนนี้สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นการรวบรวมประวัติและผลงานทั้งหมดของเรา ทำให้มหาลัยรู้จักตัวเราในเบื้องลึก แต่ก็ไม่ใช่ใส่ทุกอย่างที่เคยทำลงไปหมดนะคะ เพราะ CV ที่ดีไม่ควรเกิน 2 หน้า ไม่งั้นจะยาวเกินไปดูไม่น่าอ่าน ถ้าให้แนะนำเราควรใช้ template ที่เป็นทางการ เรียบง่าย สะอาดตา (สำหรับคณะทั่วไป) แต่ถ้าสมัครเรียนต่อป.โทคณะ fashion, design แบบนี้ก็จะเป็นอีกรูปแบบ คือควรมี portfolio โชว์ผลงานเรา มีการออกแบบให้สวยงาม ดังนั้นขึ้นอยู่กับคณะด้วยค่ะ

  • Transcript/ ใบปริญญาจบ

แน่นอนว่าทุกคนที่จบป.ตรีมาต้องมีใบนี้อยู่แล้ว ถ้าใครทำหายหรือหาไม่เจอรีบติดต่อมหาลัยเดิมของเราเพื่อขอออกใบ transcript ใหม่ได้ค่ะ แต่ถ้าจบมาแล้วนานเกินไปไม่แน่ใจประวัติเราจะยังอยู่มั้ย ดังนั้นเผื่อเวลาติดต่อด้วยนะคะ

โดยรวม เราใช้เวลาเตรีบมตัวสมัครเรียนต่อป.โททั้งหมดประมาณ 6 เดือนถึงหนึ่งปี หากใครมีเวลาเตรียมยิ่งเยอะก็ยิ่งดี เพราะบางมหาลัยจะปิดรับหากจำนวนคนสมัครเต็มแล้ว ยิ่งมหาลัยดังๆ อาจเปิดรับเป็นรอบๆ เต็มแล้วเต็มเลย ดังนั้น ยิ่งสมัครหลายแห่งก็ควรเผื่อเวลาไว้ด้วย เพื่อที่เราจะได้มีเวลาเตรียมตัว และได้การตอบรับจากมหาลัยที่เราอยากได้มากที่สุด

หลังจากที่เรารวบรวมเอกสารข้างต้นและส่งตามมหาลัยที่ต้องการแล้ว รอประมาณ 3 เดือนก็ได้รับ offer จากทุกแห่งที่สมัครไป ซึ่งตอนนั้นเหลือที่ต้องเลือก 3 แห่ง ได้แก่ Lund University (Sweden), Glasgow University (Scotland) และที่สุดท้ายคือ Erasmus University Rotterdam (Netherlands) ซึ่งก็ใช้เวลาตัดสินใจนานพอดู เพราะทุกแห่งต่างมีชื่อเสียงในโปรแกรมที่สมัคร และเป็นประเทศที่อยากไปทั้งหมด

สุดท้ายเราจะเลือกอะไร ตามอ่านต่อในโพสถัดไปได้เลยค่ะ

Leave a comment